มุ่งสู่ความจริงของชีวิต
ในโครงการ ตายดี วิถีพุทธ
Focus on the truth of life
In dying well,Buddhist Way
อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน
e book หนังสือพุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
"สุคติพุทธวิมาน" เปิดทางสวรรค์ สู่ "มรรค - ผล - นิพพาน"
ณ ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด หรือ วัดป่ากรรมฐานบ้านโนนสะอาด (ธ)
ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
กฏระเบียบและเงื่อนไขรับผู้ป่วยระยะท้าย
ขั้นตอนการพิจารณารับผู้ป่วยยากไร้/ผู้ป่วยระยะท้าย/ผู้สูงอายุ/พระสงฆ์อาพาธ
เนื่องด้วยศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด จ.นครราชสีมา ยังมีสถานที่ดูแลไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยของผู้ป่วยจำนวนมาก จึงได้มีกระบวนการคัดกรองผู้ป่วย และพระสงฆ์อาพาธ ก่อนรับเข้าดูแลในศูนย์ฯ โดยการกรอกข้อมูล และการสัมภาษณ์ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. ผู้ป่วย/ญาติ ดูคลิปรายการคนค้นฅน
แล้วตัดสินใจแจ้งความประสงค์ขอรักษาตัวที่ศูนย์ โดยแนบประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษา
๒. อัดคลิป การสนทนา ถาม-ตอบ กับผู้ป่วยให้ละเอียดที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อประเมินสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งทัศนคติและความคิดเห็น ต่าง ๆ คำถามที่ใช้ถามผู้ป่วย อาทิเช่น
- เมื่อดูคลิปจากรายการ “คนค้นฅน” ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตผู้ป่วย ความเป็นมา และเรื่องราวต่าง ๆ ของวัดแล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร
- สนใจจะรักษาตัวที่วัดหรือไม่ เพราะเหตุใด
- มีปัญหาอะไรกับครอบครัว เหตุใดจึงไม่อยากอยู่กับญาติ
- หากได้มาอยู่วัด มีความคาดหวังให้วัดช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง
- สามารถปฏิบัติตามกฏระเบียบของวัดได้หรือไม่ เช่น ๑) การรักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐาน เดินจงกรม ๒) ไม่เล่นการพนัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพยาเสพติดทุกชนิด ๓) ไม่ดูทีวี ไม่นินทาว่าร้าย ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ๔) ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นและส่วนรวม
- ผู้รับรองข้อมูลชื่อ.......................และหากเกิดปัญหาจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง หรือ ปิดบังความจริง ผู้รับรองข้อมูลยินดีรับผิดชอบร่วมกับผู้ป่วย และ อื่น ๆ
๓. จากนั้นจะนำรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาเข้าที่ประชุม เพื่อหาจิตอาสาดูแล
๔. ที่ประชุมพิจารณาว่าจะรับเข้ามาอยู่หรือไม่รับเพราะเหตุใด แล้วแจ้งให้ทราบ นัดหมายวันเวลา การเข้ามาอยู่วัด
๕. ผู้ป่วยที่ได้เข้ามาอยู่ที่วัดยินดีเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ” โดย ยินยอมแสดงเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗ และมาตรา ๑๒ เพื่อให้ใช้ภาพ วิดีทัศน์ เผยแพร่เป็นธรรมทาน เน้นการดูแลจิตวิญญาณ สร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา บูรณาการกับงานดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อการตายดีวิถีพุทธ
สาเหตุที่ไม่สามารถรับดูแลผู้มีความประสงค์รักษาตัวที่วัดได้ทุกรายเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากรในการดูแล และสถานที่ที่จำกัด
ประเภทของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแล
๑) ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลในระยะยาว (long-term care) คือ ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้อยู่ในระยะท้าย แต่อยู่ในภาวะยากลําบากในการดำรงชีวิต อันเนื่องมาจากภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรัง การประสบอุบัติเหตุเกิดความพิการต่าง ๆ ตลอดจนผู้สูงอายุที่ชราภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ และความพิการ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคจิตประสาท เป็นต้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่อยู่ที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งนี้
๒) ผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยตับ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยรูมาตอยด์ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตระยะท้าย เป็นต้น โดยที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด จะรับผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือใกล้ที่จะเสียชีวิตโดยทันทีที่มีการติดต่อมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใจคลายความวิตกกังวล มีสติก่อนตาย
๓) พระสงฆ์อาพาธ ศูนย์ฯ ให้การดูแลพระสงฆ์อาพาธ เพื่อส่งเสริมให้ท่านได้มรณภาพในผ้าเหลืองอย่างสมศักดิ์ศรี แทนที่จะต้องลาสิกขา ซึ่งศูนย์ฯ เห็นว่าอาจเป็นภาระของญาติ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงกลับพบว่า พระสงฆ์อาพาธบางรูปกลับถูกทอดทิ้งตามยถากรรม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศูนย์ฯ จึงวางแนวทางการดูแลพระสงฆ์อาพาธ โดยมอบหมายให้พระสงฆ์สุขภาพดีในวัดที่มีความเมตตาและปฏิบัติธรรมเป็นประจำ คอยดูแลและให้กำลังใจแก่พระสงฆ์อาพาธ รวมถึงสนับสนุนให้ปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ท่านได้สงบใจและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังจัดเตรียมกุฏิสำหรับพระสงฆ์อาพาธโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นสถานที่สงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม และจัดให้นักบริบาลชายคอยดูแลสุขอนามัยส่วนตัว ส่วนแม่ชีและผู้หญิงจะช่วยดูแลเรื่องอาหารและความสะอาดภายในกุฏิ โดยทุกคนจะปฏิบัติตามระเบียบวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ไม่รับกิจนิมนต์ทั่วๆไป และไม่รับปัจจัยส่วนตัว เพื่อให้สามารถอุทิศเวลาทั้งหมดในการดูแลพระสงฆ์อาพาธอย่างเต็มที่
ผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด จะมีที่อยู่ อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่มให้ทุกรายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อตัดความกังวลเรื่องปัจจัย ๔ นอกจากนี้ยังจะได้รับวิทยุธรรมะ คนละ ๑ เครื่อง เพื่อเปิดฟังธรรมบรรยาย และเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ ไม่มีทีวีให้ดู ไม่ได้รับข่าวสารอื่นนอกจากการศึกษาธรรมะ จึงมีสมาธิได้ง่าย ให้เวลากับตัวเอง ฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน มีชีวิตดี เพื่อโน้มนำให้ผู้ป่วยมีความสนใจในพระธรรมคำสอน เป็นธรรมโอสถ ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญา ส่วนขั้นตอนและรูปแบบในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรง อาการของโรคและพื้นฐานทางธรรมของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่พอจะเดินและดูแลตัวเองได้หรือผู้สูงอายุจะได้มีโอกาสสวดมนต์ ฟังธรรม สนทนาธรรมและฝึกปฏิบัติในรูปแบบ ตามกำหนดเวลาของศูนย์ฯ ส่วนผู้ป่วยติดเตียงซึ่งมีประมาณ ๑๓ ราย จะให้ปฏิบัติที่ที่พักโดยมีผู้ดูแลช่วยเหลือ
พระอาจารย์แสนปราชญ์ จะเป็นผู้พิจารณาสภาวะความเจ็บป่วยของผู้ป่วยทุกรายก่อนที่จะให้ผู้ป่วยปฏิบัติ ผู้ป่วยแต่ละคนจึงไม่ได้มีแบบแผนในการรักษาเหมือนกันทุกราย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาจัดตกแต่งสถานที่ภายในให้มีความน่าสนใจ เช่น จุดศึกษาธรรม จุดปฏิบัติทำสมาธิ ฝึกจิต จุดเรียนรู้เรื่องราวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกเล่าเรื่องราวการเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมไปถึงโลกหน้า เป็นต้น โดยเฉพาะในห้องของผู้ป่วยระยะท้ายที่มีการจัดตกแต่งลักษณะคล้ายทิพย์วิมานสวรรค์ชั้นฟ้า เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้กำลังมาสู่วาระท้ายของชีวิต การที่ได้อยู่ในสถานที่สวยงามคล้ายวิมานสวรรค์จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดี คลายความวิตกกังวลและจากไปอย่างสงบ และเชื่อว่าจะได้จากไปในภพภูมิที่ดี ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ลีลาการตายดีวิถีพุทธ” ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตลง ทางศูนย์ก็จะทำพิธีฌาปนกิจตามวัตถุประสงค์ของผู้ป่วยที่สั่งเสียเอาไว้ โดยเมรุที่จัดทำพิธีฌาปนกิจมีการตกแต่งอย่างงดงามเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในวัดจนถึงวันที่เสียชีวิตผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องอาศัยการประคับประคองให้ “ตายดี” ปราศจากความกังวลใด ๆ เมื่อไม่ยึดติด ร่างนี้กายนี้ก็ไม่ใช่เรา การยอมรับความตาย ง่ายต่อการรักษาจิตวิญญาณ เพื่อมุ่งสู่การตายดี
ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
คือความตายที่เป็นมัจจุราช
อย่ารอให้ถึงวันนั้น มาเริ่มกำหนดสติตั้งแต่ตอนนี้ แล้วชีวิตหลัง
ความตายจะปลอดภัย
The inevitable truth is death that is death
Don't wait until that day. Let's start setting our minds from now on. Then life after death will be safe.
A virtuous person pays attention even though he or she only lives for one day. Better than an immoral person who doesn't have a steady mind. who lived for 100 years
ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าคนทุศีลไม่มีจิตตั้งมั่น ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย ๒) เล่มที่ ๒๕
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต